การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและประณีตเป็นอย่างยิ่ง
ต้องอาศัยทั้งเวลา ความรู้ความสามารถและความอดทนเป็นอย่างสูงในการพัฒนาหรือสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนให้มีประสิทธิภาพ
สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้นผู้พัฒนาเองจึงควรทำความเข้าใจกับทฤษฎีหรือแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาต่อไป
ทฤษฎีการถ่ายโยงการเรียนรู้
การใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นการประยุกต์เอาความรู้ทางด้านจิตวิทยาการศึกษา
เข้ามาใช้ร่วมกับความรู้ทางคอมพิวเตอร์ และใช้เทคโนโลยีกำหนดแนวทางส่งเสริมบูรณาการด้านเนื้อหาและการสอนที่มีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้น
การใช้เทคโนโลยีประมวลเนื้อหาความรู้เพื่อถ่ายโยงไปสู่ตัวผู้เรียน เรียกว่า กระบวนการสารสนเทศ (Information Process) โดยเน้นที่ความสำคัญของเรื่องกระบวนการทางความคิด
และการจัดลำดับขั้นในการจดจำฟื้นคืนความรู้เดิม และการประมวลความรู้ ทำให้เกิดการพัฒนาของ
ศาสตร์แห่งการรับรู้
(Cognitive Science) ซึ่งใช้หลักจิตวิทยาและทฤษฎีการเรียนรู้
(วุฒิชัย ประสารสอย, 2543) การจัดสภาวะการณ์เพื่อการถ่ายโยงความรู้
จึงมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ได้แก่
1. การสร้างแรงจูงใจภายในตนเอง
(Self-Motivation) เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สำรวจ ค้นหาความรู้
และมีความอยากรู้ อยากเห็นสิ่งที่อยู่รอบกายด้วยตนเอง
2. โครงสร้างของบทเรียน (Structure) จะเน้นการจัดกิจกรรมในบทเรียนที่เหมาะสมกับผู้เรียนและธรรมชาติของบทเรียนแต่ละหน่วย
โดยมีส่วนแนะนำให้ผู้เรียนมองเห็นความสัมพันธ์ของเนื้อหาบทเรียน เพื่อให้ผู้เรียนค้นพบความรู้ใหม่
3. จัดลำดับความยากง่าย (Sequence) เป็นการจัดลำดับถ่ายโยงความรู้ไปสู่ผู้เรียนที่เหมาะสมกับพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนและวิธีการที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาความรู้ในบทเรียน
ได้แก่ การสิ้นสุดบทเรียน (Enactive) การแสดงสัญลักษณ์ (Iconic)
และเครื่องหมาย (Symbolic) เป็นต้น
4. แรงเสริมด้วยตนเอง
(Self-Reinforcement) การให้ผู้เรียนเสริมแรงด้วยตนเอง มีความหมายต่อตัวผู้เรียนมากกว่าแรงเสริมภายนอง
(Extrinsic Reinforcement) เพราะเสริมแรงด้วยตนเองเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนตั้งความคาดหวังที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของตน
และ คิดหาหนทางแก้ปัญหาและมีแรงจูงใจที่อยากจะรับรู้และได้เรียนรู้เนื้อหาอื่น
การเรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
บุคคลจะเรียนรู้เนื้อหาได้จากการสัมผัสกับสื่อที่ใช้นำเสนอภายในบทเรียนที่ใช้รูปแบบกระบวนการเรียนรู้ (Information-Process Models) ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ด้าน ได้แก่
กระบวนการเรียนรู้ภายใน (Internal Learning Process) และ สื่อการสอนจากภายนอก (External Instructional Even) (วุฒิชัย ประสารสอย,
2543)
กระบวนการเรียนรู้ภายใน (Internal Learning Process) เป็นขั้นตอนการเรียนรู้เป็นกระบวนการสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นภายในตัวของผู้เรียน
แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ขั้นสนใจปัญหา (Motivation) ขั้นศึกษาข้อมูล
(Information) ขั้นพยายาม (Application) และขั้นสำเร็จผล
(Progress) มีรายละเอียดดังนี้
1. ขั้นสนใจปัญหา (Motivation) หรือขั้นการนำเข้าสู่บทเรียน และเป็นการแนะนำความรู้ในบทเรียน เพื่อจูงใจให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในเรื่องที่จะเรียน
เพราะการเรียนรู้ที่ดีจะเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้เรียนมีความพร้อม ความตั้งใจ และความสนใจที่จะเรียน
2. ขั้นศึกษาข้อมูล (Information) หรือขั้นการเสนอเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ เนื้อหาที่นำเสนอในขั้นนี้ ควรจะมีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอที่จะช่วยให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ของบทเรียน
เมื่อผู้เรียนประสบปัญหา มีความต้องการหรือสนใจที่จะแก้ปัญหานั้น แต่ด้วยเหตุผลที่เป็นปัญหาแปลกใหม่
ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน จึงต้องมีการศึกษาข้อมูลและทำการเก็บรวบรวมความรู้ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาหรือเป็นการสร้างเนื้อหาความรู้ซึ่งต้องนำไปใช้ในการแก้ปัญหาที่จะเรียนรู้ในเนื้อหา
3. ขั้นพยายาม (Application) เนื้อหาความรู้ที่ผู้เรียนได้รับ อาจไม่เพียงพอที่จะใช้แก้ปัญหา การศึกษาหรือการรับความรู้แต่เพียงอย่างเดียวนั้นย่อมไม่เกิดการเรียนรู้
ถ้าผู้เรียนไม่ได้พยายามที่จะเอาความรู้นั้นมาใช้ในการแก้ปัญหา ดังนั้นผู้เรียนจะต้องพยายามทำ
พยายามฝึกหัดและใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อการแก้ปัญหา (Problem Solving) การนำเสนอบทเรียนในขั้นตอนนี้ ควรจัดให้อยู่ในรูปแบบฝึกกิจกรรมหรือกิจกรรมที่ใช้ร่วมกับสื่ออื่น
ๆ ในขณะที่ใช้บทเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะทำแบบทดสอบ
4. ขั้นสำเร็จผล (Progress) การได้พยายามแก้ปัญหาย่อมทำให้เกิดผลของการแก้ปัญหาหากบทเรียนนั้นมีข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและเพียงพอ
จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อแก้ปัญหาจากสถานการณ์ต่าง ๆ จนสำเร็จผลได้
หากการแก้ปัญหาไม่สำเร็จก็จะต้องย้อนขั้นตอนของกระบวนการเรียนรู้เหล่านั้นอีกครั้ง
กระบวนการเรียนรู้ทั้ง 4 ขั้นตอน มีความสำคัญต่อการเริ่มต้นวางแผนในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้ใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
สื่อการสอนจากภายนอก (External Instructional Even)
เป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้เกิดการรับรู้ของผู้เรียนต่อสื่อเสนอผ่านประสาทสัมผัส
ผู้เรียนจะได้รับสิ่งเร้าจากสื่อภายนอก ได้แก่ สื่อที่เป็น มัลติมีเดีย (Multimedia) ที่ประกอบด้วยข้อความ (Text) กราฟิก
(Graphics) รูปภาพ (Images) เสียง
(Audio) และดิจิตอลวิดีโอ (Digital Video) ความสำคัญของมัลติมีเดีย
(Multimedia) กับบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนับเป็น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บทเรียนคอมพิวเตอร์เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
“มัลติมีเดีย (Multimedia) หรือ สื่อ
หลายแบบ" เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์
สามารถผสมผสานกันระหว่าง ข้อความ ข้อมูลตัวเลข ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียง ไว้ด้วยกัน
ตลอดจน การนำเอาระบบโต้ตอบกับผู้ใช้ (Interactive)
มาผสมผสานเข้าด้วยกัน (ศูนย์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ,
2545) มัลติมีเดียเป็นสื่อการสอนจากภายนอก (External
Instruction Event) ซึ่งเป็นสิ่งเร้าภายนอก และเป็นองค์ประกอบช่วยให้เกิดการรับรู้ของผู้เรียนต่อสื่อที่นำเสนอผ่านประสาทสัมผัส
ประกอบด้วยสื่อ (Media) ประเภทต่าง ๆ ได้แก่ (วุฒิชัย ประสารสอย, 2543)
1. ข้อความ (Text) เป็นสื่อที่ใช้นำเสนอเนื้อหา
จะประกอบด้วยข้อความที่แสดงผลทางจอภาพคอมพิวเตอร์ ผู้เรียนจะใช้สายตามองที่จอภาพเพื่ออ่านข้อความ
ตัวอักษร ตัวเลขหรือสัญลักษณ์พิเศษอื่น ๆ ซึ่งการใช้สายตาเพื่อเพ่งอ่านข้อความที่ปรากฏในจอภาพคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
จะทำให้ผู้เรียนเกิดอาการล้าและปวดกล้ามเนื้อตาจากการแผ่รังสีและเปล่งพลังงานของแสงจากจอภาพเข้ากระทบจอประสาทตาโดยตรง
ดังนั้นการออกแบบเพื่อนำเสนอเนื้อหาในรูปของข้อความ จึงจะต้องจัดระบบนำเสนอที่ต่อเนื่องในลักษณะของการเสนอทีละกรอบ
(Frame by Frame)
2. กราฟิก (Graphics) โดยมากใช้เพื่อดึงดูดความสนใจ
และเพื่อเป็นตัวชี้แบ่งแยกความแตกต่างในการนำเสนอเนื้อหา โดยแสดงผลด้วยเส้น วงกลม สี่เหลี่ยม
และแสงเงา ที่อธิบายความหมายหรือแสดงองค์ประกอบของวัตถุได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
3. รูปภาพ (Images) ได้แก่
ภาพนิ่ง ภาพถ่ายขาว-ดำ ภาพถ่ายสี หรือภาพจากเอกสารสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง
ๆ เพื่อแสดงภาพซึ่งมีขนาดใหญ่ที่เสมือนจริง เช่น ภาพอาคาร ตึก ภาพสะพานข้ามแม่น้ำ และเพื่อให้สื่อความหมายและจัดประสบการณ์แก่ผู้เรียน
รูปภาพที่ใช้ในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนโดยมากได้มาจากเครื่องอ่านสัญญาณภาพ
(Scanner) หรือถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายภาพชนิดดิจิตอล
4. เสียง (Images) ได้แก่
เสียงธรรมชาติ เสียงประดิษฐ์ เสียงดนตรี รวมทั้งเสียงประกอบอื่น ๆ ใช้เพื่อกระตุ้นความสนใจและอธิบายข้อเท็จจริงแก่ผู้เรียนผ่านทางประสาทสัมผัสรับทางการได้ยิน
5. ดิจิตอลวิดีโอ (Digital Video) ใช้เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงของภาพเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องเช่น ภาพที่สร้างขึ้นให้สามารถเคลื่อนไหวได้หรือได้จากสัญญาณภาพของดิจิตอลวิดีโอจากความสัมพันธ์ระหว่าง
สิ่งเร้าภายนอก ได้แก่ สื่อมัลติมีเดียประเภท ข้อความ กราฟิก รูปภาพ เสียง และภาพดิจิตอลวิดีโอ
ผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ กับ สิ่งเร้าภายใน ตัวของผู้เรียน ซึ่งได้แก่กระบวนการเรียนรู้ตามลำดับทั้ง
4 ขั้นตอน คือ Motivation, Information,Application และ Progress สามารถแสดงเป็นแผนภูมิได้ดังนี
วิธีการประเมินการบรรลุวัตถุประสงคของบทเรียน
ใชวิธีประเมินที่สําคัญ 2
ประการ ไดแก
Formative Evaluation และ Summative
Evaluation Formative Evaluation เปนการประเมินในระหวางที่กําลังอยูในหนวยความรูตาง ๆ ซึ่งอาจจะมีสวนของการแสดงผลปอนกลับในทันทีผานทางจอภาพหรือบันทึกขอมูลไวในสื่อ
เชน Diskette, Hard Disk เปนตน
Summative Evaluation
เปนการประเมินเพื่อตรวจสอบการบรรลุวัตถุประสงคภายหลังจากที่ผูเรียนไดรับสาระความรูจากหนวยยอยของบทเรียน
เมื่อผานการประเมินแลว ผูเรียนไดรับความรูในหนวยความรูอื่น หรืออาจจะขามไปศึกษาเนื้อหาในหนวยความรูใดก็ได
จนกวาจะพรอมและสามารถยอนกลับเขาสูหนวยความรูที่ตองการไดตลอดเวลา
ทฤษฎีการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นกระบวนการที่จะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องซึ่งต้องใช้ทั้งความวิริยะ
อุตสาหะ รวมทั้งความรู้ความสามารถของผู้พัฒนาและทีมงานเป็นอย่างมาก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างคุณภาพหรือประสิทธิภาพเชิงความรู้
ทั้งนี้ เพื่อรับประกันได้ว่าบทเรียนที่พัฒนาหรือสร้างขึ้นนั้น มีคุณค่าต่อการศึกษา
และช่วยให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ขั้นตอนการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
มีผู้เสนอขั้นตอนหรือวิธีการพัฒนาหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบมีขั้นตอนในการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกันบ้าง
ในที่นี้ขอนำเสนอ
2 แนวคิด ดังนี้
แนวคิดที่ 1 การพัฒนาโดยเน้นตามการจัดกิจกรรมสอดคล้องกับชั้นเรียนปกติ
เป็นแนวคิดในการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่เน้นการพัฒนาตามขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติ
เน้นสร้างเนื้อหา การนำเสนอให้เหมาะสมกับพฤติกรรมและการตอบสนองของผู้ใช้บทเรียน มีขั้นตอนการสร้าง 8 ขั้นตอน ดังนี้
(วุฒิชัย ประสารสอย, 2543)
1. วัตถุประสงค์ทั่วไป (Goal/Objective)
เป็นการกำหนดว่าบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่พัฒนาขึ้นนี้
ต้องการจะนำไปใช้เพื่อใคร และต้องการให้เรียนรู้ อะไรบ้าง จากการศึกษาและวิเคราะห์คำอธิบายรายวิชา
รวมไปถึงแผนการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาที่ต้องการนำมาสร้างเป็นสื่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนอีกด้วย
2. รายละเอียดของเนื้อหาวิชา (Content
Specification)
ได้แก่เนื้อหาความรู้ที่กำหนดเอาไว้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมตามวัตถุประสงค์ซึ่งอาจจะได้จากการวิเคราะห์เนื้อหาของหลักสูตร
การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ การสัมมนาทางวิชาการหรือค้นหาเพื่อจัดระบบจากแหล่งทรัพยากรอื่น
แล้วนำมาวิเคราะห์ความสำคัญและคุณค่าของบูรณาการด้านเนื้อหา รวมไปถึงการศึกษาและกำหนดคุณสมบัติของเนื้อหาความรู้
และกิจกรรมบทเรียนที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้เรียนด้วย
3.
วิเคราะห์เนื้อหาวิชา (Content Analysis)
วิธีการนี้ จะเริ่มต้นจากการ วิเคราะห์งาน (Task Analysis) เพื่ออธิบายกิจกรรมการเรียนการสอน และจัดลำดับกิจกรรมเหล่านั้นให้เหมาะสม ถูกต้อง
และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทั่วไปจนได้รายละเอียดของเรื่องที่จะสอนหรือหัวข้อการสอน
(Topic Content)
4. วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม (Behavioral
Objectives)
เป็นการกำหนดพฤติกรรมาเชิงความรู้ (Knowledge-Based Behavior) เพื่อให้ผู้เรียนได้รับรู้ว่าเมื่อเรียนจบบทเรียนแล้วจะได้รับสิ่งใดจากบทเรียน
ซึ่งการกำหนดวัตถุประสงค์ในการเรียนไว้ล่วงหน้าอย่างแน่ชัด เป็นการบอกให้ผู้เรียนทราบว่าจะได้รับการพัฒนาความสามารถ
(Competency –
Base Learning) จนประสบผลสำเร็จในการเรียนอย่างไร และช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ตามระดับความสามารถจากการกำหนดระดับขั้น
เพื่อจะได้จัดสภาวการณ์การเรียนการสอนล่วงหน้า
5. กลยุทธ์ทางการสอนและนำเสนอ (Teaching
Strategies & Models of Delivery)
ได้แก่การเลือกว่าจะใช้วิธีสื่อสารเพื่อให้เกิดความรู้
เช่น การนำเสนอข้อมูลเนื้อหาด้วยข้อความ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น โดยกำหนดหลักการให้สอดคล้องกันกับวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมและธรรมชาติของเนื้อหาวิชา
เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ในที่สุด และการกำหนดกลยุทธ์ทางการสอนและการนำเสนอบทเรียน ควรแบ่งเนื้อหาออกเป็นหน่วยย่อยที่สัมพันธ์กันเป็นอย่างดี
นำเสนอเนื้อหาความรู้นั้นทีละน้อย ๆ เพื่อให้ผู้เรียนประสบสำเร็จในการเรียนที่ต่อเนื่องกัน
และสามารถกลับมาเรียนซ้ำได้ไม่จำกัดครั้ง
6. ออกแบบและลงมือสร้างบทเรียน (Design
& Implementation)
ในขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการเตรียมผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
ได้แก่การนำรายละเอียดที่ได้จากการปฏิบัติที่ผ่านมาทั้งหมดมาจำแนกรายละเอียดเป็นการเฉพาะในแต่ละส่วน
และเป็นการกำหนดแผน วิธีการปฏิบัติในรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลในการปฏิบัติ
หากพบว่ามีข้อบกพร่องที่ส่วนใด ควรปรับปรุงและแก้ไขให้บกพร่องมีน้อยที่สุดเรียกขั้นตอนนี้ว่า
การเขียนบทดำเนินเรื่อง หรือ การเขียนสคริปต์ (Script)
7. นำเสนอต่อผู้เรียน (Delivery)
เป็นวิธีการที่จะนำไปสู่กระบวนการหาประสิทธิภาพ
โดยคำนึงถึงหลักการด้านความยืดหยุ่น
(Flexibility) และสร้างรูปแบบนำเสนอให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้เรียนควรเลือกวิธีการนำเสนอความรู้อย่างรอบคอบรัดกุม
โดยอาจจะใช้วิธีออกแบบกิจกรรมในบทเรียนให้ผู้เรียนได้มีโอกาสรับการสอนซ่อมเสริม
(Remedial Teaching) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกันระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน
และผู้เรียนกับผู้สอน ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศของการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับการส่งเสริมพัฒนาการทางเจตคติหรือเข้าใจความรู้สึกมนุษย์
การสร้างบรรยากาศการจัดกิจกรรมการสอนในบทเรียนให้เป็นไปตามแนวความคิดของการ
สอนแนวใหม่ (Alternative Teaching) ควรมีหลักการ ดังนี้
- เน้นความเป็นการเองระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน
และไม่เคร่งเครียด
- เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียน
- ผู้เรียนมีเสรีภาพในการเลือกเรียนสิ่งที่ตนเองสนใจ
และใช้เวลาเรียนได้อย่างเต็มที่
- เน้นกิจกรรมแบบความร่วมมือกันของกลุ่มมากกว่าการแข่งขัน
8. การวัดและประเมินผล (Evaluation)
ได้แก่การประเมินระหว่างการพิจารณาด้านเนื้อหาและกิจกรรมการเรียน
เพื่อให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ในเบื้องต้น เช่น การประเมินความถูกต้อง ความเหมาะสม
และการครอบคลุมเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนที่จะจัดให้มีขึ้นในบทเรียนนั้น รวมทั้งการประเมินสรุป
ซึ่งเป็นขั้นตอนการประเมินทั้งด้านเนื้อหาและกิจกรรมที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้เพื่อการหาประสิทธิภาพของบทเรียน
แนวคิดที่ 2 การพัฒนาแบบบทเรียนแบบ
IMMCI
แนวคิดการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบ IMMCAI เป็นการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประเภท
การสอนเนื้อหาหรือความรู้ใหม่ (Instruction) โดยเน้นการสร้างจุดโต้ตอบและมัลติมีเดียในบทเรียนหรือเรียกว่า
Interactive MultiMedia Computer Assisted Instruction : IMMCAI) (ไพโรจน์
ตีรณธนากุล และ ไพบูลย์ เกียรติโกมล, 2541)
การสร้างเริ่มจากกำหนดหัวเรื่องหรือวิชา เป้าหมายที่กำหนด
วัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้บทเรียน การพัฒนามีขั้นตอน 5 ขั้นตอนหลักสำคัญ
ได้แก่ การวิเคราะห์เนื้อหา (Analysis) การออกแบบบทเรียน
(Design) การพัฒนาบทเรียน (Development) การนำเสนอ
บทเรียนบนคอมพิวเตอร์ (Implementation) และการประเมินผล
(Evaluation) จากนั้น นำบทเรียนออกเผยแพร่(Publication) และควรจะมีการติดตามผล (Follow up) เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาครั้งต่อ
ๆ ไป ดังแสดงในรูปที่ 2.3
รายละเอียดของการพัฒนา IMMCAI
ทั้ง 5 ขั้นตอน สามารถแบ่งเป็นขั้นตอนการพัฒนาย่อย
ๆ ได้ 16 ขั้นตอน โดยเริ่มจากหัวเรื่องที่กำหนด มีวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายกำกับ
ดังนี้
1. ขั้นตอนการวิเคราะห์ (Analysis)
ขั้นตอนการวิเคราะห์เนื้อหา มีขั้นตอนย่อย
ๆ 3 ขั้นตอน ดังนี้
1.1 สร้างแผนภูมิระดมสมอง
(Brain Storm Chart) โดยเริ่มจากเขียนชื่อวิชาไว้ตรงกลางกระดาน แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญในวิชานั้น
ๆ จำนวน 4-5 คน ช่วยกันระดมสมองบอกหัวเรื่องที่ควรจะสอนในวิชานั้น
เขียนโยงกับชื่อวิชาอย่างอิสระ หรือหากเป็นหัวเรื่องย่อย ก็ให้โยงกับหัวเรื่องหลักต่อไป
โดยไม่ทำการลอกแบบของตำราเล่มใดเล่มหนึ่งเลย แผนภูมิที่ได้เรียกว่า แผนภูมิระดมสมอง
(Brian Storm Chart)
1.2 สร้างแผนภูมิหัวเรื่องสัมพันธ์
(Concept Chart) จากแผนภูมิระดมสมอง นำมาทำการวิเคราะห์ความถูกต้องของทฤษฎี
หลักการ และเหตุผลความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันอย่างละเอียดอาจมีการตัด-เพิ่มหัวเรื่องตามเหตุ-ผล และความเหมาะสม จนสามารถอธิบายและตอบคำถามได้ผลที่ได้เป็นแผนภูมิที่เรียกว่า
แผนภูมิหัวเรื่องสัมพันธ์ (Concept Chart)
1.3 สร้างแผนภูมิโครงข่ายเนื้อหา
(Content Network Chart) นำหัวเรื่องต่าง ๆ จากแผนภูมิหัวเรื่องสัมพันธ์
(Concept Chart) มาเขียนเป็นโครงข่ายตามหลักการเทคนิคโครงข่าย โดยคำนึงถึงลำดับการเรียนเนื้อหาก่อน-หลัง ความต่อเนื่องของเนื้อหา หรือเนื้อหานั้นสามารถเรียนเนื้อหาขนานกันได้
แล้วทำการวิเคราะห์เหตุผลความสัมพันธ์ของเนื้อหาโดยวิธีการวิเคราะห์ข่ายงาน
(Network Analysis) จนสมบูรณ์ ผลที่ได้จะเป็นโครงข่ายเนื้อหาที่ต้องการ
เรียกว่า แผนภูมิโครงข่ายเนื้อหา (Content Network Chart)
2. ขั้นออกแบบบทเรียน (Design) มีขั้นตอนย่อย ๆ 2 ขั้นตอน ดังนี้
2.1 การกำหนดกลวิธีการนำเสนอและวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
(Strategic Presentation Plan vs Behavior Objective) โดยเริ่มจากนำ
แผนภูมิโครงข่ายเนื้อหา (Content Network Chart) มาพิจารณากลุ่มหัวเรื่องที่สามารถจัดไว้ในหน่วยการเรียน
(Module) เดียวกันได้ภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด ตีเป็นกรอบ ๆ ไว้จนครบหัวเรื่องบนโครงข่ายเนื้อหา
จากนั้นนำกรอบหน่วยการเรียน (Module) มาจัดลำดับการนำเสนอตามอันดับและความสัมพันธ์ให้เป็นแนวทางเดียวกับแผนภูมิโครงข่ายเนื้อหา
(Content Network Chart) ซึ่งจะได้ผลเป็นแผนภูมิบทเรียน (Course
Flow Chart) แสดงให้เห็นถึงลำดับการเรียนแต่ละหน่วยการเรียน
(Module) ทั้งรายวิชา
2.2 สร้างแผนภูมิการนำเสนอในแต่ละหน่วย
(Module Presentation Chart) ซึ่งนับว่าเป็นการออกแบบการสอน
(Instruction Design) จะต้องออกแบบลำดับการนำเสนอเนื้อหาบทเรียนตามหลักการสอนจริง
อันเป็นส่วนสำคัญมากในการประกันคุณภาพการเรียนจากบทเรียน IMMCI
3. ขั้นพัฒนาบทเรียน (Development) มีขั้นตอนย่อย ๆ 4 ขั้นตอน ดังนี้
3.1 เขียนรายละเอียดเนื้อหาตามรูปแบบที่ได้กำหนด
(Script Development) โดยเขียนเป็นกรอบ ๆ จะต้องเขียนไปตามที่ได้ออกแบบไว้
โดยเฉพาะถ้าเป็น Interactive MultiMedia : IMM จะต้องกำหนด ข้อความ
ภาพ เสียง สี ฯลฯ และการกำหนดปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ไว้ให้สมบูรณ์
3.2 จัดทำลำดับเนื้อหา (Storyboard
Development) เป็นการนำเอากรอบเนื้อหาหรือที่เขียนเป็น
Script ไว้ มาเรียบเรียงลำดับการนำเสนอที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งจะยังเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์อยู่
การลำดับกรอบนี้นับว่าสำคัญมาก
3.3 นำเนื้อหาที่ยังเป็นสิ่งพิมพ์นี้มาตรวจสอบหาค่าความถูกต้อง
(Content Correctness) โดยเฉพาะการสร้าง IMMCI จะเป็นการเขียนตำราใหม่ทั้งเรื่อง ควรอาศัยผู้เชี่ยวชาญในวิชานั้น ๆ
(Subject Specialist) เป็นผู้ตรวจสอบให้ จากนั้นนำเนื้อหาไปทดลองหาค่า
Content Validity และ Reader Reliability โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป้าหมายมาทดสอบด้วย
แล้วปรับปรุงให้สมบูรณ์
3.4 การสร้างแบบทดสอบส่วนต่าง ๆ ต้องนำมาหาค่าความยากง่าย
อำนาจจำแนกความเที่ยง และความเชื่อมั่นทุกแบบทดสอบ และต้องปรับปรุงให้สมบูรณ์ ผลที่ได้ทั้งหมด
ทั้งเนื้อหา (ที่จัดอยู่ในโครงสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ด้วยแล้ว)
และแบบทดสอบต่าง ๆ รวมกันจะเป็นตัวบทเรียน (Courseware)
4. ขั้นการนำเสนอบทเรียนบนคอมพิวเตอร์
(Implementation) มีขั้นตอนย่อย 3 ขั้นตอน ดังนี้
4.1 เลือก Software หรือโปรแกรมสำเร็จรูปที่เหมาะสมและสามารถสนองตอบต่อความต้องการที่กำหนดไว้เป็นตัวจัดการเสนอบทเรียนบนคอมพิวเตอร์
4.2 จัดเตรียมรูปภาพ เสียง หรือการถ่ายวิดีโอหรือภาพนิ่ง
หรือ Caption ไว้ให้พร้อมที่จะใช้งาน โดยสร้างเป็นแฟ้ม ๆ
4.3 จัดการนำ Courseware เข้าในโปรแกรม (Coding) ด้วยความประณีตและด้วยทักษะที่ดี
ทำการ Edit ภาพ เสียง VDO ให้เรียบร้อยสมบูรณ์
ซึ่งจะได้เป็นบทเรียน 1 วิชา บนคอมพิวเตอร์ตามที่ต้องการ
(Subject CAI Software)
5. ขั้นประเมินผล (Evaluation ) มีขั้นตอนย่อย 3 ขั้นตอน ดังนี้
5.1 การตรวจสอบคุณภาพของ Package
(Quality Evaluation) จัดการให้คณะผู้เชี่ยวชาญทาง IMMCI ตรวจสอบคุณภาพของ Package แล้วปรับปรุงให้สมบูรณ์
5.2 ทำการทดลองการดำเนินการทดสอบหาประสิทธิภาพ
ด้วยกลุ่มตัวอย่าง เป้าหมายจำนวนไม่เกิน 10 คน ทำการปรับปรุง
และนำผลมากำหนดกลวิธีการหาประสิทธิภาพจริงต่อไป
5.3 ทำการทดสอบเพื่อหาประสิทธิภาพ
(Efficiency E1 / E2) ของ Package และหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
(Effectiveness) จากกลุ่มตัวอย่างเป้าหมายไม่น้อยกว่า 30 คน หากได้ผลตามเป้าหมายที่ต้องการเป็นอันใช้ได้
5.4 จัดทำคู่มือการใช้ Package
(User Manual) หรือ Package Instruction ในคู่มือการใช้ควรประกอบไปด้วยหัวเรื่องดังนี้
บทนำ อุปกรณ์ที่ใช้เรียน การกำหนดหน้าจอคอมพิวเตอร์ก่อนเข้าบทเรียน เป้าหมายของบทเรียน
ข้อมูลเสริมที่สำคัญ ข้อควรระวัง ข้อมูลผู้พัฒนาบทเรียนและวันที่เผยแพร่บทเรียนเมื่อได้พัฒนาตาม
16 ขั้นตอนและเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ตามที่ได้มุ่งหวังไว้ เป็นอันว่าได้พัฒนา
IMMCAI Package ที่มีคุณภาพสำเร็จและสามารถนำออกเผยแพร่(Publication)
ใช้งานต่อไปได้ แต่ควรจะมีระบบติดตามผล (Follow up) เพื่อนำผลมาประกอบการปรับปรุงงานต่อ ๆ ไป จากขั้นตอนการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยหรือ
CAI ดังกล่าว สามารถนำเสนอเป็นแผนภูมิเพื่อง่ายต่อการศึกษาและทำความเข้าใจ
ได้ดังนี้
ในเรื่องขั้นตอนการสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนี้ (อำนวย เดชชัยศรี,
2539) มีขั้นตอนในการนำเสนอเนื้อหาก็เช่นเดียวกับการสอนแบบโปรแกรม การสร้างบทเรียนจึงใช้วิธีการเดียวกับการสร้างบทเรียนโปรแกรม
เมื่อได้บทเรียนโปรแกรมแล้ว ซึ่งบางตำราเรียกว่าบทเรียนสำเร็จรูป
(Programmed Text) จากนั้นจึงนำไปแปลงเป็นภาษาคอมพิวเตอร์โดยอาศัยโปรแกรมสำเร็จเพื่อสร้างเป็นคำสั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานตามเนื้อหาที่เขียนโปรแกรมออกแบบ
ดังนั้น ในการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จึงต้องอาศัยพื้นฐานทางทฤษฎีการเรียนรู้
เพื่อเข้าใจผู้เรียนแต่ละระดับและเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ฉะนั้นในการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
จึงมีขั้นตอนดังนี้
1. กำหนดเนื้อหาวิชาและระดับชั้น โดยผู้ออกแบบต้องวิเคราะห์ว่า
เนื้อหาวิชานั้นจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่ซ้ำกับใคร เพื่อคุ้มค่าการลงทุน และสามารถช่วยลดเวลาเรียนของผู้เรียนได้
2. การกำหนดวัตถุประสงค์ จะเป็นแนวทางแก่ผู้ออกแบบบทเรียน
เพื่อทราบว่าผู้เรียนหลังจากจบแล้ว จะบรรลุตามวัตถุประสงค์มากน้อยแค่ไหน การกำหนดวัตถุประสงค์
จึงกำหนดได้ทั่วไปและเชิงพฤติกรรม สำหรับการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ต้องคำนึงถึง
- ผู้เรียน (Audience) ว่ามีพื้นฐานความรู้แค่ไหน
- พฤติกรรม (Behavior) เป็นการคาดหวังเพื่อที่จะให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมาย การวัดพฤติกรรมทำได้โดยสังเกต
คำนวณ นับแยกแยะ แต่งประโยค
- เงื่อนไข
(Condition) เป็นการกำหนดสภาวะที่พฤติกรรมของผู้เรียนจะเกิดขึ้นเช่น
เมื่อนักเรียนดูภาพแล้วจะต้องวาดภาพนั้นส่งครู เป็นต้น
- ปริมาณ (Degree) เป็นการกำหนดมาตรฐานที่ยอมรับว่าผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว
เช่น อ่านคำควบกล้ำได้ถูกต้อง 20 คำ จาก 25 คำ เป็นต้น
3. การวิเคราะห์เนื้อหา เป็นขั้นตอนที่สำคัญโดยต้องย่อยเนื้อหาเป็นเนื้อหาเล็ก
ๆ มีการเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก มีการวิเคราะห์ภารกิจ (Task Analysis) ว่าจะเริ่มต้นตรงไหนและดำเนินการไปทางใด
4. การสร้างแบบทดสอบ ต้องสร้างแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน
แบบทดสอบนี้จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีประสิทธิภาพมากน้อยประการใด
5. การเขียนบทเรียน ก่อนเขียนบทเรียนต้องกำหนดโครงสร้างเพื่อให้ได้รูปร่างของบทเรียนเสียก่อน
คือจะทราบว่าต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง มีสัดส่วนอย่างไร บทเรียนจึงจะมีขั้นตอนที่ดีอย่างไรก็ตาม
อาจกล่าวได้ว่า ยังไม่มีการยืนยันว่าทฤษฎีที่เกี่ยวกับขั้นตอนการสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนทฤษฎีใดถูกต้อง
ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้พัฒนาว่า ควรจะเลือกทฤษฎีใด หรือใช้หลาย ๆ วิธีการประยุกต์ร่วมกันในการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนก็ได้
บุคลากรสำหรับการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาร่วมกันพัฒนา
ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวประกอบด้วยกลุ่มบุคลากรดังต่อไปนี้ (ไพโรจน์ ตีรณธนากุล
และไพบูลย์ เกียรติโกมล, 2541)
1. ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเนื้อหา
(Content Expert) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ จะเป็นผู้ที่มีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่จะนำมาพัฒนาเป็นบทเรียน
CAI เป็นอย่างดี สามารถที่จะให้คำปรึกษาในขอบข่ายรายละเอียด คำอธิบายของเนื้อหาวิชานั้น
ๆ ลำดับของหัวข้อที่จะเรียน ความสัมพันธ์ และ ความต่อเนื่องของเนื้อหา รวมทั้งจุดที่เป็นปัญหาของเนื้อหาในการทำความเข้าใจของผู้เรียนขณะทำการสอนปกติ
โดยทั่วไปมักเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการสอนวิชาดังกล่าวมาเป็นเวลานาน
2. นักการศึกษา (Educator) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จะเป็นผู้ที่มีความรู้และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการเรียนการสอนเป็นอย่างดี
รู้จักจิตวิทยาการเรียนรู้ของมนุษย์ การวัดผลและการประเมินผลในรูปแบบต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จะคอยให้คำปรึกษากับทีมงานเกี่ยวกับวิธีการนำเสนอและวิธีการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้บทเรียน
CAI ที่จะสร้างขึ้น การออกแบบและการสร้างบทเรียนสำเร็จรูป ตลอดจนวิธีการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เหมาะสมกับบทเรียนที่จะสร้างขึ้น
3. ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมัลติมีเดียเทคโนโลยี
(Multimedia Technology Expert) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างสื่อพื้นฐานของมัลติมีเดีย
(ตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพกราฟิกและเสียง) ซึ่งจะคอยให้คำปรึกษากับทีมงานในการคัดเลือกอุปกรณ์และการสร้างสื่อพื้นฐานของมัลติมีเดียที่จะนำเข้ามาประกอบในบทเรียน
CAI ที่สร้างขึ้น ตัวอย่างเช่น บทเรียน CAI ทางด้านช่างแขนงหนึ่ง
ซึ่งต้องการนำเสนอภาพเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องจักรชนิดหนึ่ง ก็จะสามารถจัดสร้างได้โดยการถ่ายทำเป็นภาพวิดีโอจาก
สถานการณ์จริง แล้วจึงนำมาแปลงเป็นสัญญาณดิจิตอลที่สามารถนำเสนอบนระบบคอมพิวเตอร์ได้
เป็นต้น
4. โปรแกรมเมอร์ (Programmer) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมต่าง
ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรแกรมระบบนิพนธ์บทเรียน เช่น Macromedia Authorware เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำมาใช้สร้างบทเรียน CAI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สวยงามและมีความน่าสนใจ จนสามารถนำมาใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จะคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโปรแกรมที่เหมาะสมในการสร้างบทเรียนตลอดจนฮาร์ดแวร์ที่จะใช้ในการเรียน
(Run) ตัวบทเรียนที่สร้างขึ้นด้วย
สรุป
การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องได้แก่
ทฤษฎีด้านถ่ายโยงการเรียนรู้ ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ การสร้างแรงจูงใจภายในตนเอง (Self-Motivation) โครงสร้างของบทเรียน (Structure) จัดลำดับความยากง่าย
(Sequence) และ การแรงเสริมด้วยตนเอง (Self-Reinforcement) กระบวนการเรียนรู้ (Information-Process Models) ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ
2 ด้าน ได้แก่ กระบวนการเรียนรู้ภายใน (Internal Learning
Process) และสื่อการสอนจากภายนอก (External Instructional
Even) การพัฒนาบทเรียนเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีขั้นตอนในการพัฒนา
2 แนวคิด ได้แก่ การพัฒนาตามลักษณะการจัดกิจกรรมในชั้นเรียนปกติ มีขั้นตอนได้แก่
กำหนดวัตถุประสงค์ทั่วไปกำหนดรายละเอียดเนื้อหา วิเคราะห์เนื้อหา กำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
กำหนดกลยุทธ์ทางการสอนและนำเสนอ ออกแบบและลงมือสร้างบทเรียน นำเสนอต่อผู้เรียน วัดผลและประเมินผล
ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งเป็นขั้นตอนการพัฒนาแบบ IMMCAI (Interactive Multimedia
Computer Assisted Instruction)
มีขั้นตอนการพัฒนา 5 ขั้นตอนหลักได้แก่ การวิเคราะห์
การออกแบบ การพัฒนา การสร้าง และการประเมินผล โดยแบ่งเป็นขั้นตอนละเอียด 16
ขั้นตอน ซึ่งผู้พัฒนา CAI ควรพิจารณาเลือกและประยุกต์ใช้ขั้นตอนการพัฒนาให้เหมาะสมบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้แก่
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเนื้อหา (Content Expert) นักการศึกษา
(Educator) ผู้เชี่ยวชาญด้านมัลติมีเดียเทคโนโลยี
(Multimedia Technology Expert) และโปรแกรมเมอร์
(Programmer)
อ้างอิงจาก pro.edu.snru.ac.th/UserFiles/งาน%20อ.../วิชาคอมพิวเตอร์ช่วยสอน/บทที่%202.do...